News and updates

กิจการร่วมค้า (Joint Venture) และ กิจการค้าร่วม (Consortium) แตกต่างกันอย่างไร

การประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการรับจ้างทำงานโครงการใหญ่ๆ หรือรับงานที่ต้องมีการประกวดราคา(ประมูลงาน) ผู้ประกอบการบางรายอาจไม่สามารถรับงานได้โดยลำพัง เพราะไม่มีประสบการณ์หรือผลงานหรือเงินทุนไม่พอ หรือขาดเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการรับงานนั้นๆ ดังนั้น ผู้ประกอบการอาจมีความจำเป็นต้องร่วมกับผู้อื่นในการรับงาน เพื่อยกระดับความสามารถในการดำเนินงานและเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจ และที่สำคัญการรวมตัวกันจะทำให้เป็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีประสิทธิภาพในการแข่งขันกับคู่แข่งขันได้

การร่วมกันทางธุรกิจมีหลายลักษณะซึ่งอาจมีการนำเงินและเทคโนโลยีมาร่วมกันลงทุน โดยการกำหนดสัดส่วนหุ้นและการจัดสรรผลประโยชน์ระหว่างกัน มีรูปแบบเหมือนการจัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่ หรือบางลักษณะจะมีการร่วมกันรับงานเพียงอย่างเดียว โดยมีการแบ่งแยกสิทธิและหน้าที่ รวมทั้งกำไรและขาดทุนอย่างชัดเจน การร่วมกันในทางการค้านั้นที่นิยมกันในปัจจุบัน คือ กิจการร่วมค้า (Joint Venture) และกิจการค้าร่วม (Consortium)

กิจการร่วมค้า (Joint Venture) คือ

กิจการร่วมค้า (Joint Venture) หมายถึง การร่วมประกอบธุรกิจของบุคคลหรือกิจการตั้งแต่สองคนขึ้นไป โดยมีการร่วมลงทุนกันไม่ว่าจะเป็นเงินทุน ทรัพย์สิน แรงงาน เทคโนโลยี ที่ดิน บุคลากร หรืออื่นๆ ภายใต้ข้อตกลงหรือสัญญาร่วมค้าเพื่อประกอบกิจการร่วมกัน และจะมีการกำหนดวัตถุประสงค์รวมถึงเป้าหมายการดำเนินงานไว้อย่างชัดเจน ถ้าโครงการนั้นทำเสร็จสิ้นลงก็จะถือว่าการร่วมค้านั้นยุติลงด้วย ในกรณีเกิดความเสียหายทางการค้าก็จะรับผิดชอบร่วมกันในนามกิจการร่วมค้าและเมื่อมีผลกำไรก็จะจัดสรรตามสัดส่วนของการลงทุน

กิจการร่วมค้า (Joint Venture) อาจเกิดขึ้นจากการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทใหม่ (Incorporate Joint Venter - IJV) หรืออาจเกิดจากสัญญาก็ได้ (Unincorporate Joint Venter - UJV)

ทั้งนี้ ในการร่วมกันจะต้องมีผู้ร่วมค้าฝ่ายหนึ่งเป็นนิติบุคคล เช่น บริษัทกับบริษัท หรือบริษัทกับบุคคลธรรมดา การร่วมกันดังกล่าวจะไม่เป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่จะมีเพียงสถานะเหมือนห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่จดทะเบียนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ก็ต้องขอบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรในนามกิจการร่วมค้ากับสรรพากรพื้นที่ ในการขอบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีของกิจการร่วมค้า ทั้งสองฝ่ายจะต้องนำสัญญากิจการร่วมค้ามาเป็นหลักฐาน ถ้าฝ่ายใดเป็นนิติบุคคลให้แสดงหนังสือรับรองนิติบุคคลพร้อม สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของกรรมการผู้มีอำนาจ แต่ถ้าฝ่ายใดเป็นบุคคลธรรมดาให้ใช้เพียงสำเนาบัตรประจำตัว ประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน

 

ประโยชน์ของกิจการร่วมค้า (Joint Venture) คือ

เพื่อจะช่วยให้คู่ค้าแต่ละฝ่ายลดและกระจายความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งยังช่วยประหยัดภาษีจากส่วนกำไร เพราะกฎหมายกำหนดว่าเมื่อได้รับส่วนแบ่งกำไรไม่ต้องนำมาคำนวณรวมกับรายได้ของบริษัทเดิม

ข้อดี ข้อเสีย ของการตั้งเป็นกิจการร่วมค้า (Joint Venture) คือ

ข้อดี: ถ้าโครงการของกิจการร่วมค้าขาดทุน ก็ไม่ต้องชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล และได้รับประโยชน์จากการยกเว้นภาษีเงินปันผลของกิจการร่วมค้า

ข้อเสีย: ผู้ร่วมค้าแต่ละรายไม่สามารถนำผลขาดทุน ของกิจการร่วมค้าดังกล่าวไปขอหักเป็นค่าใช้จ่ายในการยื่นแบบ ภงด.50 ของโครงการปกติอื่นๆ เช่นกัน

 

กิจการค้าร่วม (Consortium) คือ

กิจการค้าร่วม (Consortium) หมายถึง การประกอบธุรกิจที่มีลักษณะของการร่วมกันขององค์กรธุรกิจตั้งแต่สององค์กรขึ้นไป เพื่อดำเนิน กิจการหนึ่งด้วยวัตถุประสงค์ คือเป็นการเข้าร่วมกันเพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงตามแผนธุรกิจ แต่ละฝ่ายจะใช้ความสามารถและความ ชำนาญในการทำงานในส่วนที่ตนรับผิดชอบให้สำเร็จตามโครงการ และมีการแบ่งแยกการทำงานไว้อย่างชัดเจน โดยต่างฝ่ายต่างออกใบแจ้งหนี้และใบเสร็จรับเงินเฉพาะของบริษัทตน

กิจการค้าร่วม (Consortium) เกิดขึ้นโดยสัญญาเสมอ

สัญญากิจการค้าร่วมเป็นเพียงการลงนามร่วมกันในการทำสัญญากับเจ้าของโครงการเท่านั้น เพราะแต่ละฝ่ายจะรับผิดชอบเฉพาะในส่วนของตน ไม่มีการร่วมทุนหรือแบ่งปันผลกำไรหรือขาดทุนระหว่างกัน เมื่องานเสร็จสิ้นแล้ว ก็จะยุติลงเหมือนกับกิจการร่วมค้า กิจการร่วมค้าไม่มีชื่อเรียกตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์และประมวลกฎหมายรัษฎากร จึงไม่ต้องขอบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากร แต่มีการเสียภาษีจากกำไรของแต่ละบริษัทนั่นเอง

 

group-of-business-people-diverse-meeting-and-worki-2021-11-24-00-04-18-utc.png

 

ประโยชน์ของกิจการค้าร่วม (Consortium) คือ

ผู้ประกอบการจะสามารถคำนวณหรือประเมินความสามารถของตนในการรับงานในแต่ละส่วนได้ และจะรับผิดชอบเฉพาะส่วนงานของตนเองเท่านั้น ตัวอย่างของกิจการค้าร่วมเช่น บริษัท A และบริษัท B ร่วมกันทำสัญญากับ หน่วยงานรัฐ ในการขายและพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์โดยใช้ชื่อ "กิจการร่วมค้า AB" หรือ "คอนซอร์เตียม AB" ซึ่งบริษัท A รับผิดชอบในการขายอุปกรณ์ ส่วนบริษัท B รับผิดชอบในการติดตั้งระบบ เมื่อปรากฏว่าเกิดความเสียหายจากการพัฒนาระบบจนไม่ สามารถใช้งานได้อันมิใช่เกิดจากอุปกรณ์ ดังนั้นบริษัท B จึงต้องเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว

จากบทความนี้ ข้อควรระวังของการทำสัญญา คือ หากการเข้าประมูลงานกับภาครัฐ ความถูกต้องของสัญญาสำคัญมาก เพราะหน่วยงานรัฐมีรูปแบบเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ และมีผลต่อการพิจารณาคุณสมบัติของผู้เสนอราคา นอกจากนี้ ให้ระวังเรื่องภาษีตามสัญญาด้วย เช่น ตั้งใจจะเข้าร่วมทำงานแบบ กิจการค้าร่วม (Consortium) แต่เขียนสัญญาไม่ชัดเจน ถูกสรรพากรตีความว่าเป็นการร่วมทำงานในลักษณะของกิจการร่วมค้า (Joint Venture) ซึ่งจะมีรูปแบบการเสียภาษีอีกแบบหนึ่ง และอาจส่งผลในเรื่องของค่าปรับภาษีตามมาอีกก็เป็นได้ จากความแตกต่างของการร่วมกันในทางการค้าของทั้งสองลักษณะ หากผู้ประกอบการจำเป็นต้องร่วมการค้ากับผู้อื่น คงจะต้องดูศักยภาพ ความชำนาญ และความสามารถของกิจการตนเองเป็นหลัก

ผู้เขียน : ผศ.ดร.ปาณัสม์กัญ เจิมพิพัฒน์
Reference: http://www.pangpond.co.th

เพจกฎหมายเพื่อผู้ประกอบการ